วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พื้นที่สำหรับลงผลงานฝึกพากย์ของ RIDERSEA (ผมเอง)


หรือติดต่อทางSkype/Facebook
ได้นะครับ

ถึงประสบการณ์จะยังน้อยมากแต่ก็จะพยายามครับ!



หนทางสู่นักพากย์ ตอน 3

「声優とはどのような職業なのでしょうか?」

กรี๊ดดดด!!

exteen.com เปี้ยนไป๋
ตัวบล็อกมองจากฝั่งคนอ่านคงไม่เป็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก
แต่หน้าจออินเตอร์เฝสสำหรับจัดการบล็อกของทางผู้เขียน
เปลี่ยนไปโขจนน่าตกใจ (เว่อร์ซะ)

ก็ต้องขอแสดงความยินดี
กับการกำเนิดใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมของ exteen ด้วยครับ
จะว่าดูง่ายใช้สะดวกกว่าเดิมมันก็คงพูดได้อยู่
แต่ก็คงต้องอาศัยเวลาหน่อยสำหรับความเคยชินละ
(ผู้เขียนมีปัญหากับการตัดคำและขึ้นบรรทัดใหม่ของระบบบล็อก)


สัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสดู Gundam OO (ดับเบิลโอ)
ที่เพิ่งเริ่มฉายเป็นตอนแรกไป ต้องยอมรับว่านี่เป็นกันดั้มชุดแรก
ที่มีโอกาสได้ดูในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

... ซีรียส์สุดท้ายที่ได้ดูจบไป เอ... G Gundam มั้งหว่า

ขนาด Gundam SeeD ที่ดังทั่วบ้านทั่วเมือง ผู้เขียนก็ไม่ได้ดู
ไม่รู้สิแฮะ ผู้เขียนไม่ชอบหน้าตาตัวละครที่โผล่ในเรื่อง

ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนไม่ชอบลายเส้นของคุณ ฮิราอิ ฮิซาชิ นะครับ
เพราะผู้เขียนดูเรื่อง s.CRY.ed (สไครด์) ที่เป็นลายเส้นของคุณฮิราอิจนจบ
และชอบตัวละครทุกตัวใน s.CRY.ed มากๆ

แต่กับกันดั้มซี้ด พูดจริงๆ ว่าตัวละครหน้าเหมือนกันไปหมด
คือโครงหน้าเรียวหล่อเรียวสวย ตากลมโตเหมือนกันทั้งผู้ชายผู้หญิง
พอเห็นแบบนี้เต็มเรื่อง เลยพลอยทำให้เอียนอย่างบอกไม่ถูก

แต่กับ s.CRY.ed มันไม่ใช่ เอกลักษณ์หน้าตาทุกคนต่างกันไปหมดและตัวละครทุกคนมีคาแร็คเตอร์ที่ค่อนข้างเด่นชัดเสมอต้นเสมอปลาย
หลายตัวหน้าไม่หล่อ แต่เรากลับหลงรักมันได้อย่างน่าประหลาดใจ
นั่นทำให้ภาพรวมของ s.CRY.ed มีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดอย่างบอกไม่ถูก
หยิบเอามาดูกี่ครั้งก็ยังสนุก เป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้อนิเมในยุคปัจจุบัน

อ้าว พูดเรื่องกันดั้ม ไหงกลายเป็น s.CRY.ed ไปซะได้

คือจะบอกว่ากันดั้มดับเบิลโอ จากที่ดูตอนแรกสุด
ประทับใจเอาเรื่องครับ ทั้งเรื่องลายเส้น เสียงพากย์ การกำกับบท
ลายเส้นของคุณ โคกะ ยุน ช่างออกมาดูดีเหลือเกินเมื่อเป็นอนิเม
เรียกได้ว่าทุกอย่างในดับเบิลโอสอบผ่านแบบได้คะแนนท็อปสกอร์
ผู้เขียนฟันธงเลยว่ามันจะกลายเป็นกันดั้มที่ดังทะลุฟ้าอีกภาค ...

นั่นหมายถึงถ้าดับเบิลโอยังคงคุณภาพงานแบบนี้ไว้ได้ตลอดนะครับ
เห็นกำหนดไว้ว่าซีซั่นแรกจะทำ 26 ตอน ความยาวกำลังดี
ก็ขอให้งานเสมอต้นเสมอปลายไปอย่างนี้ตลอดก็แล้วกัน



เอาละ

กลับมาที่บทความแปลชุด "หนทางสู่นักพากย์" กันดีกว่า
Q&A ทั้งหมดมาจากเว็บไซต์ของ โรงเรียนสอนนักพากย์คัตสึตะ
ผู้เขียนไม่ได้เขียนขึ้นมาเองแต่ประการใดนะครับ แค่ทำหน้าที่แปล
ส่วนสุดท้ายส่วนนี้จะเน้นไปในเรื่องของตัวอาชีพนักพากย์เลย
ให้รู้กันไปว่างานเนี้ย มันทำงานที่ไหน ยังไง เมื่อไหร่ เหนื่อยแค่ไหน
และที่สำคัญ ... ได้ตังค์เท่าไหร่

ไม่รอช้า อ่านกันเลยดีกว่า Q&A ส่วนสุดท้ายที่มีชื่อว่า

声優とはどのような職業なのでしょうか?
- นักพากย์เป็นอาชีพแบบไหนกันแน่หนอ? -

Q1 - สมัครเข้าโปรดักชั่นนักพากย์โดยตรงเลยไม่ได้หรือครับ?

ไม่ได้ครับ เป็นไปไม่ได้เลยที่มือใหม่จู่ๆ จะเข้าไปเป็นนักพากย์อาชีพ


Q2 - นักพากย์ที่เคยแสดงละครมาก่อนมีเยอะจังเลย ...?

เช่นนั้นละครับ อย่างที่บอกไปว่านักพากย์ก็คืองานแสดงประเภทหนึ่ง


Q3 - ได้ยินมาว่าในหมู่นักพากย์ก็มีคนที่ไม่ชอบโดนเรียกว่า "นักพากย์" อยู่เหมือนกัน ...?

ในหมู่วัยรุ่นมีเยอะครับ ตอนผมยังหนุ่มๆ ก็ไม่ชอบเหมือนกัน
เพราะตัวผมยึดติดกับความคิดว่า "นั่นเป็นงานนักแสดงต่างหาก"
จริงๆ แล้วคำว่า 声優 (เซย์ยู - นักพากย์) เนี่ย เป็นคำที่พวกนักข่าว
ใช้ในการเขียนข่าว ก็เหมือนอย่างคำว่า ทาเลนท์ (Talent) ที่เป็นคำ
ใช้เรียกขานคนบันเทิงที่มีพรสวรรค์ในเชิงยกยอปอปั้นนั่นละครับ
หลายๆ คนเลยไม่ค่อยชอบคำว่า "นักพากย์"
แต่ยินดีกับคำว่า "นักแสดง" มากกว่า


Q4 - นักพากย์ต้องผ่านการออดิชั่น (Audition - คัดตัว) รึเปล่าคะ?

ก่อนอนิเมหรือรายการโทรทัศน์ใหม่จะเริ่มฉาย
ก็มีการเลือกนักพากย์ชุดหลักจากการออดิชั่นอยู่บ่อยครั้งเหมือนกันครับ โดยจะมีหนังสือแจ้งไปยังโปรดักชั่นนักพากย์ต่างๆ ให้ส่งนักพากย์หน้าใหม่
มาร่วมการออดิชั่น เป็นโอกาสของหน้าใหม่ที่จะเปิดตัวสู่สาธารณะเลยละ


Q5 - เงินเดือนนักพากย์ประมาณเท่าไหร่หรือคะ?

นักพากย์ไมได้รับค่าแรงเป็นเงินเดือนครับ แต่จะได้รับค่าตอบแทนเป็นงานๆ ไป มีทั้งคนที่ได้ค่าตอบแทนงานละหลายแสนเยน (แสนเยน ประมาณ 3 หมื่นบาท)
ไปจนถึงคนที่ได้แค่ไม่กี่พันเยน (พันเยน ประมาณ 300 บาท) ก็เรียกว่าต่างกันโข
ค่าแรงสำหรับนักพากย์หน้าใหม่ก็ต่ำพอๆ กับงานอื่นทั่วไปนั่นละ


Q6 - ค่าตอบแทนที่ได้ คุ้มกับการที่ต้องเดินทางเข้าโตเกียว ไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวไหมคะ?

การใช้ชีวิตตัวคนเดียวนี่มันก็ลำบากเอาเรื่องครับ
นักพากย์หน้าใหม่ๆ ถ้ามีงานที่ได้พากย์เป็นตัวละครประจำ
น้อยกว่า 4 งานต่อสัปดาห์ก็เห็นทีจะอยู่ไม่ไหวเหมือนกัน
ช่วงเป็นมือใหม่ก็ขัดสนแบบนี้ละครับ


Q7 - นักพากย์นี่ต้องทำงานกี่ปีถึงจะพอลืมตาอ้าปากได้ครับ?

พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบครับ โลกของธุรกิจการแสดงมันคาดเดาอะไรไมได้ ถ้าโอกาสมันลอยมาแล้วเราคว้าเอาไว้ได้ก็ไม่ใช่แค่ลืมตาอ้าปากหรอกครับ
ถึงขนาดซื้อบ้านซื้อรถหรูๆ ได้เลยก็มี


Q8 - รายได้นักพากย์สูงสุด-ต่ำสุดอยู่ที่เท่าไหร่คะ? แล้วคนที่ได้สูงสุดนี่คือใคร?

เรื่องรายได้ส่วนบุคคลแบบนั้นคงเปิดเผยไม่ได้ครับ ต้องขออภัยด้วย
แต่สำหรับเงินค่าสัญญารายปี (เงินรวมที่ทางบริษัทผู้สร้างผลงานจ่ายให้)
มีทั้งคนที่ได้รับถึง 60 ล้านเยน (เกือบ 20 ล้านบาท) ต่อปี
และก็มีคนที่ได้แค่ไม่กี่แสนเยน (3 หมื่นบาท) ต่อปีด้วยเช่นกันครับ


Q9 - แล้วคนที่มีรายได้น้อยทำอย่างไรหรือคะ?

ก็กัดก้อนเกลือกินกันไป ... นักแสดงเป็นอาชีพที่ต้องอดทนสูง
ความจนกับนักพากย์นี่เป็นของคู่กันครับ


Q10 - ทำไมพวกนักแสดงถึงทิ้งงานแสดงแล้วมาเป็นนักพากย์คะ?

คิดว่าคงไม่ได้ทิ้งหรอกครับ ทุกคนไม่น่าจะตัดเยื่อใยจากงานแสดงได้ขาด
เพียงแต่ว่าบางคนอาจจะกำลังรอโอกาสดีๆ ที่จะแสดงเป็นตัวละครประจำ
หรือไม่บางคนก็มีปัญหาเรื่องเวลาการฝึกซ้อมหรือการแสดงที่ไม่ลงตัว
ทำให้ไม่สามารถทำงานแสดงต่อได้อีกครับ


Q11 - นักพากย์ต้องทำงานทุกวันหรือเปล่าคะ?

ถ้ามีงานทำทุกวันก็เป็นเรื่องดีครับ
นักพากย์ที่ขายดีเนี่ย วันนึงๆ ต้องวิ่งรอกไปสตูดิโอโน้นทีนี้ทีทั้งวัน
ในขณะที่คนขายไม่ออก ทั้งสัปดาห์ไม่มีงานเลยสักงานก็มี


Q12 - นักพากย์นี่รับงานกันยังไงหรือครับ?

ชีวิตนักพากย์ผูกอยู่กับสำนักงาน (Management Office) ครับ
นั่นก็คือบริษัทผู้สร้างอนิเมจะจ้างนักพากย์ผ่านสำนักงานอีกต่อนั่นเอง


Q13 - ที่ทำงานของนักพากย์เป็นอย่างไรหรือคะ?

ถ้าไม่ใช่ในสตูดิโอหลักของบริษัทผู้สร้างเลย
ก็เป็นพวกสตูดิโอเช่าที่มีกระจายอยู่นับร้อยๆ แห่งในตัวเมืองครับ
ก็แตกต่างกันไปแล้วแต่งานนั่นละ


Q14 - ไม่มีใครไปพากย์ให้ช่อง NHK หรือตามโฆษณาออกอากาศบ้างหรือคะ?

ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลยครับ
พวกงานวิทยุหรือพากย์บทบรรยายภาพยนต์สารคดีมันก็มีเหมือนกัน
แต่นักพากย์ส่วนมากจะรับงานพากย์อนิเมหรือภาพยนตร์อยู่แล้ว
เลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปกันสักเท่าไหร่


Q15 - เวลาทำงานเริ่มกันตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมงหรือคะ?

ไม่มีการกำหนดไว้ครับ ปกติจะเริ่มกันตั้งแต่ 10 โมงเช้า
แต่บางทีเริ่มสตาร์ทงานกันตอน 4 หรือ 6 โมงเย็นเลยก็มี
แถมงานที่ต้องทำช่วงดึกก็มีประปรายเหมือนกัน


Q16 - ถ้ากลับบ้านดึกแล้วพ่อแม่จะดุเอา ทำอย่างไรดีคะ?

ถ้าจะกตัญญูรู้คุณบิดามารดาก็อย่าเป็นนักพากย์เลยครับ
เพราะงานรอบดึกสำหรับนักพากย์มันของตายอยู่แล้ว


Q17 - ดิฉันเป็นผู้หญิงค่ะ จะก้าวเดินไปบนหนทางนักพากย์พร้อมๆ กับชีวิตสมรสได้ไหมคะ?

ให้ความสำคัญกับชีวิตคู่ก่อนดีกว่าครับ
คนที่จับปลาสองมือแล้วล้มเหลวก็มีอยู่ไม่น้อย


Q18 - ณ ปัจจุบัน มีนักพากย์อยู่ทั้งหมดกี่คนหรือครับ?

นักพากย์อาชีพที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนของสหพันธ์นักแสดง
มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1300 คนครับ


Q19 - นักพากย์นี่ทำงานได้จนถึงอายุเท่าไหร่หรือคะ?

จากทะเบียนข้อที่แล้ว นักพากย์ที่อาวุโสที่สุดคือ 80 ปีครับ


Q20 - มีนักพากย์ที่เข้าวงการจากการพากย์บทเด็กเยอะมากเลย
ถ้าไม่ได้เริ่มจากบทเด็กมาก่อนนี่ไม่ได้หรือคะ?

เหล่านักพากย์ที่เริ่มสตาร์ทจากบทเด็กมีอยู่มากมาย เช่น

โอฮาร่า โนริโกะ (โนบิตะ)
อิเคดะ มาซาโกะ (เมเทล)
โนซาว่า มาซาโกะ (ซน โกคู)
ฟุรุยะ โทโอรุ (อามุโร่ เรย์)
โมริ คัตสึจิ (พระเอกหลายเรื่องของเครือทัตซึโนโกะโปรฯ)
ชิโอยะ โยคุ (ทริต้อน)
มาสึยาม่า เอย์โกะ (คิวตี้ฮันนี่รุ่นแรก)
อุเอดะ มิยูกิ (มารี อังตัวเน็ต ในกุหลาบแวร์ซาย)

*ในวงเล็บไม่ได้หมายถึงบทเด็กที่พวกเขาเปิดตัวนะครับ
แต่เป็นบทที่ผู้เขียนวงเล็บกำกับเองให้ท่านผู้อ่านได้พอทราบว่าเขาเป็นใครกันบ้าง
เพราะถึงนักพากย์เหล่านี้จะเป็นคนดังของญี่ปุ่น แต่ในไทยคงไม่มีใครรู้จัก

แต่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องบังคับเริ่มจากบทเด็กเสมอไป
คนมักพูดว่า "ในวงการนักพากย์นั้นใช้เส้นสายในการกำหนดบท"
ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อยครับ
Q21 - มีนักพากย์คนนึงพูดว่า "อนิเมเนี่ย นอนดูเองอยู่บ้านสนุกกว่า"
งานนักพากย์จริงๆ แล้วไม่สนุกหรือครับ?

งานมันยากลำบากมากซะจนไม่มีเวลาจะมาสนุกไงครับ
กว่าจะได้มายืนหน้าไมค์พากย์ ต้องผ่านความลำบากไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่
พอครั้นจะเริ่มเคยชินกับปัญหา ก็จะมีงานใหม่พร้อมความยากลำบากใหม่ๆ
เข้ามาให้ลิ้มลองไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรที่ไม่จบไม่สิ้นตลอดชีวิตงาน


Q22 - ความยากลำบากที่ว่าเป็นแบบไหนครับ?

หนึ่ง ก็ปัญหากับตัวงานเอง
สอง ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
สาม ความสัมพันธ์กับผู้คน

นักพากย์ต้องเจอกับปัญหาใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ไหนจะการต่อสู้กับสภาพถังแตก ความสัมพันธ์กับเหล่าสตาฟ
การวางตัวกับเหล่านักพากย์รุ่นพี่ มีแต่เรื่องรบกวนประสาททั้งนั้นครับ



ทั้งจน ทั้งลำบาก (- -')

นักพากย์ไม่ใช่อาชีพฉาบฉวยอย่างที่คิดกันเลยแฮะ
กว่าจะออกมาเป็นอนิเมเรื่องหนึ่งๆ ที่เราได้ดูกัน
ต้องผ่านหยาดเหงื่อและน้ำตาของนักพากย์มาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่


ก็เป็นอันว่าบทความแปลชุด "หนทางสู่นักพากย์" จบลงเพียงเท่านี้





เครดิต iitaihaudai

หนทางสู่นักพากย์ ตอน 2

「私は声優になれますか?」


อนิเมซีซั่นเก่าจบไป ซีซั่นใหม่ก็เวียนมาถึง
แม้ว่าหลังๆ ผู้เขียนจะไม่ค่อยได้มีโอกาสดูอนิเมมากเหมือนก่อน
แต่ก็อดไม่ได้ที่จะลองไล่โหลดตอนแรกสุดของแต่ละเรื่องมานั่งดูเนื้องาน
รวมไปถึงเช็คนักพากย์ (เซย์ยู) ของแต่ละเรื่องด้วย

มาถึงเรื่อง Dragonaut -The Resonance- นี่ละ

อืม ... ลายเส้นของคุณอุโนะ มาโคโตะ
หลังจากจบเลิฟฮินะ กราวิอ้อน กับสเตเวีย ลายเส้นคุณแกก็เปลี่ยน
มาเขียนตัวละครสไตล์ผอมเพรียวตลอด (เห็นเริ่มตั้งแต่วิทช์เบลด)

เนื้องานคุณภาพจัดว่าเยี่ยม สีสวย คาแร็คเตอร์ผ่าน การกำกับผ่าน
GONZO ก็รู้จักพัฒนา หลังๆ งานดีขึ้นเยอะ
เอ้า ... มาดูนักพากย์กันบ้าง

カミシナ・ジン (คามิชินะ จิน) - โอโนะ ไดสึเกะ
โอ๊ะ... โคอิซึมิ อิตสึกิของเราได้เป็นพระเอกเลยแฮะ งวดนี้

トア (ทอร์) - จิฮาระ มิโนริว้าว ... ยูกิ นางาโตะเนี้ยง ของเราได้เป็นนางเอกเชียว

マキナ (มากิน่า) - โกโต ยูโกะอาซาฮินะ มิคุรุจัง รับบทเป็นสมาชิกคนนึงในลินด์บลัมยูนิต

ハウリングスター (ฮาวลิ่งสตาร์) - สึงิตะ โทโมคาซึ
เคียวน์นี่หว่า หนึ่งในสมาชิกลินด์บลัมยูนิตเหมือนกัน
เดี๋ยวสิ ... เคียวน์ โคอิซึมิ นางาโตะ มิคุรุ ... นี่ 4 คนแล้วนะครับ
ขาดอีกแค่คนเดียว ... อีกแค่คนเดี๊ยวววว

ガーネット・マクレーン (การ์เน็ต แม็คเคลน) - ฮิราโนะ อายะ
แล้วนางเอก สึซึมิยะ ฮารุฮิ ก็ปรากฏตัว เป็นอันว่าครบทีมฮารุฮิพอดี

โอ เดี๋ยวนี้นักพากย์เวลาเขาจ้างยกชุดแล้วมันจะได้ส่วนลดหรือไร

ถ้าเทียบเป็นสุกี้ ก็เหมือนเดินเข้าร้านแล้วสั่ง "ฮารุฮิเซ็ต" ที่นึง
เราก็จะได้นักพากย์มาหนึ่งแพ็ค 5 คนสำเร็จรูปที่รู้งานกันดี
หลังจากนั้นก็สั่งนักพากย์คนอื่นๆ มาเป็นถาดๆ แยกต่างหาก
รวมกันเป็นสุกี้แสนอร่อยหนึ่งหม้อ ...


เกริ่นนำ (?) มานาน ก็เพื่อจะบอกว่าเซย์ยูทั้ง 5 ท่านข้างต้นนั้น
ตอนนี้ได้กลายเป็นกลุ่ม (แพ็ค) ดังที่มีคนติดตามมากๆ ไปแล้วกลุ่มหนึ่งครับ
และผู้คนคงจะจดจำทั้ง 5 ในฐานะของตัวละครจากเรื่องฮารุฮิไปอีกนาน
เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งคุณมิตสึอิชิ โคโตโนะ เคยถูกเด็กๆ ทั่วญี่ปุ่น
จดจำในฐานะ "คุณพี่เซลเลอร์มูน" อยู่ร่วมสิบปี

แล้วอย่างเราๆ ล่ะ จะเป็นนักพากย์ชื่อดังแบบนั้นได้บ้างหรือเปล่าหนอ?
มาติดตามชมส่วนที่ 2 ของ Q&A จากโรงเรียนคัตสึตะกันดีกว่าครับ

ใน Q&A ส่วนที่ 2 ที่มีชื่อว่า

私は声優になれますか?
- อย่างฉันจะเป็นนักพากย์ได้หรือเปล่า? -


Q1 - หนูเกิดที่บ้านนอก สำเนียง (แอ็คเซนท์) การพูดเลยเพี้ยนๆ ไปจะเป็นนักพากย์ได้หรือไม่คะ?

นักพากย์เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องพูดให้ถูกต้องตามหลักภาษาเป๊ะ
แต่ในหมู่นักพากย์ก็มีคนที่มาจากบ้านนอกเหมือนกันครับ
แค่เรื่องสำเนียงเพี้ยนแค่นี้ หากพยายามแก้ไขมันก็ต้องแก้ไขได้อยู่แล้วละ


Q2 - หลังๆ นี้นักพากย์ทุกๆ ท่านร้องเพลงก็ได้เก่งมากเลย
ถ้าร้องเพลงไม่เก่งเป็นนักพากย์ไม่ได้หรือคะ?

จริงอย่างว่าครับ ช่วงหลังๆ นี่นักพากย์วัยเยาว์ทุกๆ ท่าน
ร้องเพลงกันได้เก่งมากๆ ยิ่งถ้าผนวกเข้ากับความสามารถด้านการแสดง
ทั้งร้อง ทั้งเต้น ยิ่งทำอะไรได้หลากหลายก็ยิ่งได้เปรียบครับ


Q3 - สมัยเด็กๆ ผมเคยป่วยเป็นโรคหู ทำให้หูไม่ค่อยดี
รับฟังเสียงต่างๆ เพี้ยนไปบ้าง จะเป็นนักพากย์ได้ไหมครับ?

ขึ้นอยู่กับว่าอาการหนักแค่ไหนครับ ถ้าไม่ลองทดสอบดูก็คงจะบอกไม่ได้
ถ้าเป็นถึงขนาดว่ามีเพื่อนมาเตือนเรื่องคำพูดคำจาประจำวัน หรือเตือนว่า
เวลาร้องเพลงแล้วเสียงนายเพี้ยนเนี่ย แบบนั้นก็ยอมแพ้ซะดีกว่าครับ
โลกนี้ยังมีงานอื่นที่เหมาะสมกว่าอีกมาก ...


Q4 - หนูเป็นคนลิ้นสั้น เลยออกเสียงคำบางคำเพี้ยนไปค่ะ?

คนลิ้นสั้น ลิ้นยาว ลิ้นแข็ง คนแบบนี้มีอยู่เยอะครับ
ถึงจะแค่เล็กน้อยแต่มันก็ทำให้เกิดความผิดปกติทางการออกเสียง
แม้ว่าในชีวิตประจำวันจะไม่เป็นปัญหาอะไร แต่กับการเป็นนักพากย์เนี่ย
เป็นอีกเรื่องนึงเลย ต้องเรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียวละ


Q5 - ฟันหนูเรียงตัวกันไม่เป็นแถว ขึ้นซ้อนกันเป็นฟันเก
ทำให้เวลาพูดมันมีลมรั่วออกมาจากแนวฟัน เป็นนักพากย์ได้มั้ยคะ?

ไปทำการจัดฟันหรือจัดการกับส่วนที่ลมรั่วจะดีกว่าครับ
ปรึกษาทันตแพทย์ดู เรื่องแบบนี้แก้ไขรักษาได้ไม่ต้องเป็นกังวลไป


Q6 - ออกเสียงตัวอักษรแถว (สะ) แถว (ทะ)
และแถว (ระ) ได้ไม่ค่อยชัด มีทางแก้ไขไหมคะ?

* โน้ตจากผู้แปล ตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่นจะนับเป็นแถวๆ ครับ
โดยแต่ละแถวประกอบไปด้วยตัวอักษร 5 ตัว เช่น
แถว สะ จะประกอบด้วยตัวอักษร 5 ตัว สะ ชิ สึ เสะ โสะ เป็นต้น

คนส่วนมากที่รู้ตัวว่าออกเสียงไม่ชัด
ก็มักจะมีปัญหากับแถว สะ ทะ และก็ ระ นี่ละครับ
เพราะทั้ง 3 แถวนี้ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของลิ้นที่แปลกออกไปเป็นพิเศษ
ทำให้คนที่ลิ้นสั้นออกเสียงอักษรเหล่านี้ได้ไม่คล่อง แต่อย่างไรก็ตาม
ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการฝึกฝนครับ


Q7 - จมูกหนูไม่ค่อยดี ทำให้เวลาพูดเสียงมันจะขึ้นจมูกตลอด
แบบนี้จะเป็นนักพากย์ได้หรือไม่?

โรคหนอง อาการติดเชื้อ ความผิดปกติในโพรงจมูก หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เกิดกับคนในวัยรุ่นมากจนน่าประหลาดใจ เรียกว่าฟังเสียงปุ๊บก็รู้ได้เลย
ว่าคนคนนี้มีปัญหาทางจมูกหรือไม่ ก่อนอื่นต้องรักษาโรคเหล่านี้ให้หายขาด
แล้วเสียงมันก็จะกลับมาโปร่ง โล่งดีได้ดังเดิมเองครับ


Q8 - ส่วนสูงหนูแค่ 140cm จะเป็นนักพากย์ได้หรือเปล่า?

การเป็นนักพากย์ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนสูงเลยแม้แต่น้อยครับ
แต่ทว่าระยะหลัง อาชีพนักพากย์มีโอกาสที่จะต้องขึ้นยืนบนเวทีเพิ่มมากขึ้น
จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนตัวสูงก็ย่อมจะได้เปรียบกว่าคนตัวเตี้ย


Q9 - อ้วนมากค่ะ แถมหน้าตาก็ไม่เข้าขั้นน่ารักเลยสักนิด
แบบนี้เป็นนักพากย์ได้หรือไม่คะ?

... เป็นคำถามที่ตอบยากครับ ในหมู่ผู้มีความประสงค์จะเป็นนักพากย์
ก็มีคนประเภทนี้อยู่เยอะมากทีเดียว คนเหล่านี้มักจะคิดว่าตัวเองมีปมด้อย
เลยหวังจะมาเป็นนักพากย์เพื่อจะได้ทำงานเบื้องหลังที่ไม่ต้องเปิดเผยตัว
แต่นักพากย์ก็ถือว่าเป็นคนบันเทิงประเภทหนึ่ง ถ้ามีเสน่ห์ในฐานะดาราละก็
หุ่นจะดีหรือไม่ก็เป็นเรื่องรองครับ ... อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ต้องบอกว่า
ในหมู่นักพากย์ไม่มีผู้หญิงที่อ้วนอยู่เลยครับ


Q10 - สายตาสั้นมากๆ จะเป็นนักพากย์ได้หรือเปล่า?

งานนักพากย์เนี่ย ระหว่างพากย์หนังหรืออนิเม
วันหนึ่งๆ ต้องจ้องมองจอภาพหรือจอทีวีหลายต่อหลายครั้ง
แถมยังต้องอ่านหนังสือบทในห้องอัดเสียงที่มืดสลัวตลอดทั้งวัน
ขนาดคนตาดีๆ ทำงานพากย์นานเข้าสายตายังแย่ลงได้ง่ายๆ
ถ้ายิ่งเป็นคนที่ตาสั้นมากๆ อยู่แล้ว รับรองว่าได้รับผลกระทบแน่นอนครับ
จึงต้องระมัดระวังและใส่ใจกับจุดนี้ด้วย


Q11 - ทำยังไงก็พูดเสียงดังไม่ได้ มีวิธีไหนที่จะทำให้พูดได้ดังขึ้นบ้าง?

ไปตามที่โล่งกว้างอย่างสวนหลังโรงเรียน ลานกว้าง หรือไม่ก็ชายหาด
แล้วลองตะโกนให้สุดเสียงเลยครับ (หรือระหว่างเล่นพละก็เข้าท่า)
ทำติดต่อกันทุกวันเดี๋ยวก็จะสนุกและเคยชินกับมันไปเอง


Q12 - พูดเร็วๆ ไม่ค่อยได้เลย มีวีธีไหนแก้ไขได้บ้างครับ?

มีแค่ทางเดียว คือให้ฝึกฝนการคิด การพูด และการอ่านไปเรื่อยๆ ครับ
ไม่ว่าจะเร็ว จะช้า จังหวะไหน นักพากย์ต้องพากย์ให้ได้ทั้งหมด


Q13 - หนูเป็นคนบ้านนอก กำลังฝึกฝนเกี่ยวกับสำเนียงการพูดอยู่ลำบากมากเลย มีวิธีดีๆ แนะนำมั้ยคะ?

ให้ยึดเอาผู้รายงานข่าวสำนักข่าว NHK เป็นอาจารย์แล้วศึกษาตาม
วันนึงๆ จะฝึกฝนตามเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่อยาก
เวลาอยู่กับบ้าน จะมีวิธีฝึกฝนไหนดีกว่าวิธีนี้อีกละครับ


Q14 - พจนานุกรมการออกเสียงมีแบบไหนบ้างครับ

ก็มีหลายฉบับครับ เป็นต้นว่า
พจนานุกรมการออกเสียงคำภาษาญี่ปุ่น ฉบับของ 日本放送協会
(Japan national broadcasting company หรือ NHK :- ผู้เขียน)
หรือ พจนานุกรมการออกเสียงคำภาษาญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
ฉบับของ 金田一春彦 (คินดะอิจิ ฮารุฮิโกะ) เป็นต้น


Q15 - ผมเป็นคนที่ถ้าเป็นหวัดปุ๊บ ต่อมทอนซิลจะอักเสบตามมา
แบบนี้จะเหมาะเป็นนักพากย์ไหมครับ?

แบบนี้ลำบากครับ รีบไปหาหมอให้ผ่าตัดรักษาน่าจะดีกว่า


Q16 - หนูเป็นผู้หญิง เรียนอยู่ชั้น ม.3
อยากเป็นนักพากย์ ต้องเริ่มจากอะไรบ้างคะ?

ขยันตั้งใจเรียนให้จบ ม.ต้น แล้วไปต่อ ม.ปลาย เป็นอย่างแรกเลยครับ
สำคัญที่สุดคือต้องรักการเรียนและใฝ่ศึกษานี่แหละ


Q17 - ผมไม่ชอบการเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้ว ...

ตัดใจจากอาชีพนักพากย์ได้เลยครับ เพราะการศึกษาเป็นนักพากย์นั้น
ยากลำบากกว่าการเรียนมัธยมหรือมหาลัยไม่รู้ตั้งกี่เท่า


Q18 - แต่ก็น่าจะพอจบ ม.ปลาย แบบถูไถได้นะครับ

ความรู้แค่นั้นไม่มีทางครับ
แต่ถ้าผลการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นดีเลิศนั่นก็เป็นอีกเรื่องนึง


Q19 - ผลการเรียนคณิตกับวิทย์ดีมาก
แต่กับภาษาญี่ป่นและอังกฤษนั้นไม่ได้เรื่องเลย ...

มีอาชีพอื่นที่เหมาะกับคุณมากกว่านักพากย์ครับ ลองหาดูดีกว่า


Q20 - ไม่ค่อยชอบวิชาดนตรีกับพละศึกษาเลย จะเป็นนักพากย์ได้รึเปล่า?

ก็คงต้องบอกว่าคุณไม่เหมาะกับงานนักพากย์สักเท่าไหร่
บุคคลในอุดมคติของงานพากย์คือคนที่ชอบทั้งสองอย่างนั้นครับ
สำหรับนักแสดงเนี่ย ดนตรี และการเคลื่อนไหวร่างกายคือสิ่งจำเป็นนะ


Q21 - ไม่ถนัดเรื่องการพูดต่อหน้าคนอื่นเลย หมดหวังใช่ไหมครับ?

เลิกคิดที่จะเป็นนักพากย์
แล้วเอาเวลาไปพยายามแก้ไขให้ตัวเองเป็นคนชอบพูดก่อนเถอะครับ


Q22 - ใครๆ ก็ว่าหนูเป็นคนที่แยกแยะเสียงสูงต่ำไม่ได้ หมดหวังใช่ไหมคะ?

ไม่น่าจะใช่เรื่องแยกเสียงสูงต่ำ แต่น่าจะเป็นเรื่องของเซนส์ด้านเสียงมากกว่า
ไปเลือกงานอื่นที่ไม่ใช่นักพากย์จะดีกว่าครับ


Q23 - ถ้าไม่ได้ชอบอนิเม เป็นนักพากย์ไม่ได้หรือคะ?

คนละเรื่องกันเลยครับ ไม่สนอนิเมก็ช่างประไร
ขอแค่มีความรู้ด้านภาษาและมีความสามารถด้านการออกเสียงเป็นใช้ได้


Q24 - ในช่วงที่เรียน ม.ปลายอยู่ ควรจะศึกษาด้านอะไรครับ?

ก่อนอื่น ไม่ว่าจะหลักหรือรองก็ต้องเป็นภาษาญี่ปุ่นครับ
ให้เชี่ยวชาญไปถึงระดับวรรณกรรมร่วมสมัยไปเลยยิ่งดี
ถัดมาก็คือการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ 標準語 (เฮียวจุนโกะ
- ภาษากลาง หรือภาษาสุภาพตามแบบแผนในตำรา :- ผู้เขียน)
หัดออกเสียง อะ อิ อุ เอะ โอะ ทั้ง 50 เสียง (ที่ถูกคือ 112 เสียง)
ตามด้วยฝึกสำเนียง (แอ็คเซนท์) จากนั้นก็ลับเซนส์ด้านความงาม
ให้เฉียบคมยิ่งขึ้นครับ


Q25 - อ่านตัวคันจิไม่ค่อยคล่อง มีที่อ่านไม่ออกก็หลายตัว...

หันไปเลือกอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวพันกับตัวหนังสือเถอะครับ
อาชีพนักพากย์ผูกพันอยู่กับตัวหนังสือทั้งวัน ไม่เหมาะกับคุณแน่


Q26 - พ่อแม่ที่บ้านคัดค้าน แบบนี้หมดหวังสินะครับ?

อาชีพนักพากย์เป็นอาชีพที่ต้องการเวลานาน
อีกทั้งยังต้องการสภาพทางการเงินคอยสนับสนุน
ถ้าครอบครัวคัดค้านละก็คงต้องเตรียมใจรับสภาพกดดันเอาไว้ด้วยครับ


Q27 - ที่บ้านอยากให้เข้าเรียนมหาลัย ผมควรจะเรียนต่อมหาลัยใช่ไหมครับ?

การเรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่ ก็ควรจะไปครับ
ชีวิตมหาลัยจะขัดเกลาคุณให้เป็นผู้ใหญ่
ทำให้คุณสามารถตั้งเป้าหมายให้กับชีวิตของตัวเองได้ครับ


Q28 - หนูกำลังลังเลว่าควรจะไปเรียนต่อเป็นนางพยาบาลดี
หรือว่าจะเข้าเรียนเป็นนักพากย์ดี...

ไม่ต้องลังเลเลยครับ ไปเรียนพยาบาลเสียเถอะ
จบออกมาจะได้มีการงานที่มั่นคงและมีหน้ามีตาทางสังคมไงครับ



(=' ') oO ( โอ้ ... ใจร้าย )


เอาละ คำถาม-คำตอบ ส่วนที่ 2 ก็มีเพียงเท่านี้
ตอนหน้าพบกับ Q&A ส่วนสุดท้ายที่มีชื่อว่า

声優とはどのような職業なのでしょうか?
- นักพากย์เป็นอาชีพแบบไหนกันแน่หนอ? -

อยากรู้กันมั้ยเอ่ย ว่าทั่วญี่ปุ่นมีนักพากย์อยู่ทั้งหมดกี่คน
และงานนักพากย์เขาได้ค่าแรงกันเท่าไหร่บ้าง


เครดิต iitaihaudai