วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หนทางสู่นักพากย์ ตอน 3

「声優とはどのような職業なのでしょうか?」

กรี๊ดดดด!!

exteen.com เปี้ยนไป๋
ตัวบล็อกมองจากฝั่งคนอ่านคงไม่เป็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก
แต่หน้าจออินเตอร์เฝสสำหรับจัดการบล็อกของทางผู้เขียน
เปลี่ยนไปโขจนน่าตกใจ (เว่อร์ซะ)

ก็ต้องขอแสดงความยินดี
กับการกำเนิดใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมของ exteen ด้วยครับ
จะว่าดูง่ายใช้สะดวกกว่าเดิมมันก็คงพูดได้อยู่
แต่ก็คงต้องอาศัยเวลาหน่อยสำหรับความเคยชินละ
(ผู้เขียนมีปัญหากับการตัดคำและขึ้นบรรทัดใหม่ของระบบบล็อก)


สัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสดู Gundam OO (ดับเบิลโอ)
ที่เพิ่งเริ่มฉายเป็นตอนแรกไป ต้องยอมรับว่านี่เป็นกันดั้มชุดแรก
ที่มีโอกาสได้ดูในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

... ซีรียส์สุดท้ายที่ได้ดูจบไป เอ... G Gundam มั้งหว่า

ขนาด Gundam SeeD ที่ดังทั่วบ้านทั่วเมือง ผู้เขียนก็ไม่ได้ดู
ไม่รู้สิแฮะ ผู้เขียนไม่ชอบหน้าตาตัวละครที่โผล่ในเรื่อง

ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนไม่ชอบลายเส้นของคุณ ฮิราอิ ฮิซาชิ นะครับ
เพราะผู้เขียนดูเรื่อง s.CRY.ed (สไครด์) ที่เป็นลายเส้นของคุณฮิราอิจนจบ
และชอบตัวละครทุกตัวใน s.CRY.ed มากๆ

แต่กับกันดั้มซี้ด พูดจริงๆ ว่าตัวละครหน้าเหมือนกันไปหมด
คือโครงหน้าเรียวหล่อเรียวสวย ตากลมโตเหมือนกันทั้งผู้ชายผู้หญิง
พอเห็นแบบนี้เต็มเรื่อง เลยพลอยทำให้เอียนอย่างบอกไม่ถูก

แต่กับ s.CRY.ed มันไม่ใช่ เอกลักษณ์หน้าตาทุกคนต่างกันไปหมดและตัวละครทุกคนมีคาแร็คเตอร์ที่ค่อนข้างเด่นชัดเสมอต้นเสมอปลาย
หลายตัวหน้าไม่หล่อ แต่เรากลับหลงรักมันได้อย่างน่าประหลาดใจ
นั่นทำให้ภาพรวมของ s.CRY.ed มีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดอย่างบอกไม่ถูก
หยิบเอามาดูกี่ครั้งก็ยังสนุก เป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้อนิเมในยุคปัจจุบัน

อ้าว พูดเรื่องกันดั้ม ไหงกลายเป็น s.CRY.ed ไปซะได้

คือจะบอกว่ากันดั้มดับเบิลโอ จากที่ดูตอนแรกสุด
ประทับใจเอาเรื่องครับ ทั้งเรื่องลายเส้น เสียงพากย์ การกำกับบท
ลายเส้นของคุณ โคกะ ยุน ช่างออกมาดูดีเหลือเกินเมื่อเป็นอนิเม
เรียกได้ว่าทุกอย่างในดับเบิลโอสอบผ่านแบบได้คะแนนท็อปสกอร์
ผู้เขียนฟันธงเลยว่ามันจะกลายเป็นกันดั้มที่ดังทะลุฟ้าอีกภาค ...

นั่นหมายถึงถ้าดับเบิลโอยังคงคุณภาพงานแบบนี้ไว้ได้ตลอดนะครับ
เห็นกำหนดไว้ว่าซีซั่นแรกจะทำ 26 ตอน ความยาวกำลังดี
ก็ขอให้งานเสมอต้นเสมอปลายไปอย่างนี้ตลอดก็แล้วกัน



เอาละ

กลับมาที่บทความแปลชุด "หนทางสู่นักพากย์" กันดีกว่า
Q&A ทั้งหมดมาจากเว็บไซต์ของ โรงเรียนสอนนักพากย์คัตสึตะ
ผู้เขียนไม่ได้เขียนขึ้นมาเองแต่ประการใดนะครับ แค่ทำหน้าที่แปล
ส่วนสุดท้ายส่วนนี้จะเน้นไปในเรื่องของตัวอาชีพนักพากย์เลย
ให้รู้กันไปว่างานเนี้ย มันทำงานที่ไหน ยังไง เมื่อไหร่ เหนื่อยแค่ไหน
และที่สำคัญ ... ได้ตังค์เท่าไหร่

ไม่รอช้า อ่านกันเลยดีกว่า Q&A ส่วนสุดท้ายที่มีชื่อว่า

声優とはどのような職業なのでしょうか?
- นักพากย์เป็นอาชีพแบบไหนกันแน่หนอ? -

Q1 - สมัครเข้าโปรดักชั่นนักพากย์โดยตรงเลยไม่ได้หรือครับ?

ไม่ได้ครับ เป็นไปไม่ได้เลยที่มือใหม่จู่ๆ จะเข้าไปเป็นนักพากย์อาชีพ


Q2 - นักพากย์ที่เคยแสดงละครมาก่อนมีเยอะจังเลย ...?

เช่นนั้นละครับ อย่างที่บอกไปว่านักพากย์ก็คืองานแสดงประเภทหนึ่ง


Q3 - ได้ยินมาว่าในหมู่นักพากย์ก็มีคนที่ไม่ชอบโดนเรียกว่า "นักพากย์" อยู่เหมือนกัน ...?

ในหมู่วัยรุ่นมีเยอะครับ ตอนผมยังหนุ่มๆ ก็ไม่ชอบเหมือนกัน
เพราะตัวผมยึดติดกับความคิดว่า "นั่นเป็นงานนักแสดงต่างหาก"
จริงๆ แล้วคำว่า 声優 (เซย์ยู - นักพากย์) เนี่ย เป็นคำที่พวกนักข่าว
ใช้ในการเขียนข่าว ก็เหมือนอย่างคำว่า ทาเลนท์ (Talent) ที่เป็นคำ
ใช้เรียกขานคนบันเทิงที่มีพรสวรรค์ในเชิงยกยอปอปั้นนั่นละครับ
หลายๆ คนเลยไม่ค่อยชอบคำว่า "นักพากย์"
แต่ยินดีกับคำว่า "นักแสดง" มากกว่า


Q4 - นักพากย์ต้องผ่านการออดิชั่น (Audition - คัดตัว) รึเปล่าคะ?

ก่อนอนิเมหรือรายการโทรทัศน์ใหม่จะเริ่มฉาย
ก็มีการเลือกนักพากย์ชุดหลักจากการออดิชั่นอยู่บ่อยครั้งเหมือนกันครับ โดยจะมีหนังสือแจ้งไปยังโปรดักชั่นนักพากย์ต่างๆ ให้ส่งนักพากย์หน้าใหม่
มาร่วมการออดิชั่น เป็นโอกาสของหน้าใหม่ที่จะเปิดตัวสู่สาธารณะเลยละ


Q5 - เงินเดือนนักพากย์ประมาณเท่าไหร่หรือคะ?

นักพากย์ไมได้รับค่าแรงเป็นเงินเดือนครับ แต่จะได้รับค่าตอบแทนเป็นงานๆ ไป มีทั้งคนที่ได้ค่าตอบแทนงานละหลายแสนเยน (แสนเยน ประมาณ 3 หมื่นบาท)
ไปจนถึงคนที่ได้แค่ไม่กี่พันเยน (พันเยน ประมาณ 300 บาท) ก็เรียกว่าต่างกันโข
ค่าแรงสำหรับนักพากย์หน้าใหม่ก็ต่ำพอๆ กับงานอื่นทั่วไปนั่นละ


Q6 - ค่าตอบแทนที่ได้ คุ้มกับการที่ต้องเดินทางเข้าโตเกียว ไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวไหมคะ?

การใช้ชีวิตตัวคนเดียวนี่มันก็ลำบากเอาเรื่องครับ
นักพากย์หน้าใหม่ๆ ถ้ามีงานที่ได้พากย์เป็นตัวละครประจำ
น้อยกว่า 4 งานต่อสัปดาห์ก็เห็นทีจะอยู่ไม่ไหวเหมือนกัน
ช่วงเป็นมือใหม่ก็ขัดสนแบบนี้ละครับ


Q7 - นักพากย์นี่ต้องทำงานกี่ปีถึงจะพอลืมตาอ้าปากได้ครับ?

พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบครับ โลกของธุรกิจการแสดงมันคาดเดาอะไรไมได้ ถ้าโอกาสมันลอยมาแล้วเราคว้าเอาไว้ได้ก็ไม่ใช่แค่ลืมตาอ้าปากหรอกครับ
ถึงขนาดซื้อบ้านซื้อรถหรูๆ ได้เลยก็มี


Q8 - รายได้นักพากย์สูงสุด-ต่ำสุดอยู่ที่เท่าไหร่คะ? แล้วคนที่ได้สูงสุดนี่คือใคร?

เรื่องรายได้ส่วนบุคคลแบบนั้นคงเปิดเผยไม่ได้ครับ ต้องขออภัยด้วย
แต่สำหรับเงินค่าสัญญารายปี (เงินรวมที่ทางบริษัทผู้สร้างผลงานจ่ายให้)
มีทั้งคนที่ได้รับถึง 60 ล้านเยน (เกือบ 20 ล้านบาท) ต่อปี
และก็มีคนที่ได้แค่ไม่กี่แสนเยน (3 หมื่นบาท) ต่อปีด้วยเช่นกันครับ


Q9 - แล้วคนที่มีรายได้น้อยทำอย่างไรหรือคะ?

ก็กัดก้อนเกลือกินกันไป ... นักแสดงเป็นอาชีพที่ต้องอดทนสูง
ความจนกับนักพากย์นี่เป็นของคู่กันครับ


Q10 - ทำไมพวกนักแสดงถึงทิ้งงานแสดงแล้วมาเป็นนักพากย์คะ?

คิดว่าคงไม่ได้ทิ้งหรอกครับ ทุกคนไม่น่าจะตัดเยื่อใยจากงานแสดงได้ขาด
เพียงแต่ว่าบางคนอาจจะกำลังรอโอกาสดีๆ ที่จะแสดงเป็นตัวละครประจำ
หรือไม่บางคนก็มีปัญหาเรื่องเวลาการฝึกซ้อมหรือการแสดงที่ไม่ลงตัว
ทำให้ไม่สามารถทำงานแสดงต่อได้อีกครับ


Q11 - นักพากย์ต้องทำงานทุกวันหรือเปล่าคะ?

ถ้ามีงานทำทุกวันก็เป็นเรื่องดีครับ
นักพากย์ที่ขายดีเนี่ย วันนึงๆ ต้องวิ่งรอกไปสตูดิโอโน้นทีนี้ทีทั้งวัน
ในขณะที่คนขายไม่ออก ทั้งสัปดาห์ไม่มีงานเลยสักงานก็มี


Q12 - นักพากย์นี่รับงานกันยังไงหรือครับ?

ชีวิตนักพากย์ผูกอยู่กับสำนักงาน (Management Office) ครับ
นั่นก็คือบริษัทผู้สร้างอนิเมจะจ้างนักพากย์ผ่านสำนักงานอีกต่อนั่นเอง


Q13 - ที่ทำงานของนักพากย์เป็นอย่างไรหรือคะ?

ถ้าไม่ใช่ในสตูดิโอหลักของบริษัทผู้สร้างเลย
ก็เป็นพวกสตูดิโอเช่าที่มีกระจายอยู่นับร้อยๆ แห่งในตัวเมืองครับ
ก็แตกต่างกันไปแล้วแต่งานนั่นละ


Q14 - ไม่มีใครไปพากย์ให้ช่อง NHK หรือตามโฆษณาออกอากาศบ้างหรือคะ?

ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลยครับ
พวกงานวิทยุหรือพากย์บทบรรยายภาพยนต์สารคดีมันก็มีเหมือนกัน
แต่นักพากย์ส่วนมากจะรับงานพากย์อนิเมหรือภาพยนตร์อยู่แล้ว
เลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปกันสักเท่าไหร่


Q15 - เวลาทำงานเริ่มกันตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมงหรือคะ?

ไม่มีการกำหนดไว้ครับ ปกติจะเริ่มกันตั้งแต่ 10 โมงเช้า
แต่บางทีเริ่มสตาร์ทงานกันตอน 4 หรือ 6 โมงเย็นเลยก็มี
แถมงานที่ต้องทำช่วงดึกก็มีประปรายเหมือนกัน


Q16 - ถ้ากลับบ้านดึกแล้วพ่อแม่จะดุเอา ทำอย่างไรดีคะ?

ถ้าจะกตัญญูรู้คุณบิดามารดาก็อย่าเป็นนักพากย์เลยครับ
เพราะงานรอบดึกสำหรับนักพากย์มันของตายอยู่แล้ว


Q17 - ดิฉันเป็นผู้หญิงค่ะ จะก้าวเดินไปบนหนทางนักพากย์พร้อมๆ กับชีวิตสมรสได้ไหมคะ?

ให้ความสำคัญกับชีวิตคู่ก่อนดีกว่าครับ
คนที่จับปลาสองมือแล้วล้มเหลวก็มีอยู่ไม่น้อย


Q18 - ณ ปัจจุบัน มีนักพากย์อยู่ทั้งหมดกี่คนหรือครับ?

นักพากย์อาชีพที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนของสหพันธ์นักแสดง
มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1300 คนครับ


Q19 - นักพากย์นี่ทำงานได้จนถึงอายุเท่าไหร่หรือคะ?

จากทะเบียนข้อที่แล้ว นักพากย์ที่อาวุโสที่สุดคือ 80 ปีครับ


Q20 - มีนักพากย์ที่เข้าวงการจากการพากย์บทเด็กเยอะมากเลย
ถ้าไม่ได้เริ่มจากบทเด็กมาก่อนนี่ไม่ได้หรือคะ?

เหล่านักพากย์ที่เริ่มสตาร์ทจากบทเด็กมีอยู่มากมาย เช่น

โอฮาร่า โนริโกะ (โนบิตะ)
อิเคดะ มาซาโกะ (เมเทล)
โนซาว่า มาซาโกะ (ซน โกคู)
ฟุรุยะ โทโอรุ (อามุโร่ เรย์)
โมริ คัตสึจิ (พระเอกหลายเรื่องของเครือทัตซึโนโกะโปรฯ)
ชิโอยะ โยคุ (ทริต้อน)
มาสึยาม่า เอย์โกะ (คิวตี้ฮันนี่รุ่นแรก)
อุเอดะ มิยูกิ (มารี อังตัวเน็ต ในกุหลาบแวร์ซาย)

*ในวงเล็บไม่ได้หมายถึงบทเด็กที่พวกเขาเปิดตัวนะครับ
แต่เป็นบทที่ผู้เขียนวงเล็บกำกับเองให้ท่านผู้อ่านได้พอทราบว่าเขาเป็นใครกันบ้าง
เพราะถึงนักพากย์เหล่านี้จะเป็นคนดังของญี่ปุ่น แต่ในไทยคงไม่มีใครรู้จัก

แต่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องบังคับเริ่มจากบทเด็กเสมอไป
คนมักพูดว่า "ในวงการนักพากย์นั้นใช้เส้นสายในการกำหนดบท"
ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อยครับ
Q21 - มีนักพากย์คนนึงพูดว่า "อนิเมเนี่ย นอนดูเองอยู่บ้านสนุกกว่า"
งานนักพากย์จริงๆ แล้วไม่สนุกหรือครับ?

งานมันยากลำบากมากซะจนไม่มีเวลาจะมาสนุกไงครับ
กว่าจะได้มายืนหน้าไมค์พากย์ ต้องผ่านความลำบากไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่
พอครั้นจะเริ่มเคยชินกับปัญหา ก็จะมีงานใหม่พร้อมความยากลำบากใหม่ๆ
เข้ามาให้ลิ้มลองไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรที่ไม่จบไม่สิ้นตลอดชีวิตงาน


Q22 - ความยากลำบากที่ว่าเป็นแบบไหนครับ?

หนึ่ง ก็ปัญหากับตัวงานเอง
สอง ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
สาม ความสัมพันธ์กับผู้คน

นักพากย์ต้องเจอกับปัญหาใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ไหนจะการต่อสู้กับสภาพถังแตก ความสัมพันธ์กับเหล่าสตาฟ
การวางตัวกับเหล่านักพากย์รุ่นพี่ มีแต่เรื่องรบกวนประสาททั้งนั้นครับ



ทั้งจน ทั้งลำบาก (- -')

นักพากย์ไม่ใช่อาชีพฉาบฉวยอย่างที่คิดกันเลยแฮะ
กว่าจะออกมาเป็นอนิเมเรื่องหนึ่งๆ ที่เราได้ดูกัน
ต้องผ่านหยาดเหงื่อและน้ำตาของนักพากย์มาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่


ก็เป็นอันว่าบทความแปลชุด "หนทางสู่นักพากย์" จบลงเพียงเท่านี้





เครดิต iitaihaudai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น