ความเป็นมาของกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการจัดตั้ง “หอพระสมุดวชิรญาณ” เมื่อปี พ.ศ. 2424 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มี คณะกรรมการบริหารหอพระสมุด ชื่อว่า “กรรมสัมปาทิกสภา” คณะกรรมการดังกล่าว ได้จัดพิมพ์หนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยนำเรื่องต่างๆที่ช่วยกันนิพนธ์ลงพิมพ์ และได้มีการประชุมหารือกัน ออกเป็นประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเอาข้อความจากหนังสือวชิรญาณวิเศษไปตีพิมพ์เย็บเป็นเล่ม หรือคัดเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปตีพิมพ์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากกรรมสัมปาทิกสภาเท่านั้น มีข้อพึงสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้แต่อย่างใด
พ.ศ. 2444 ได้มีการออกพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120 (พ.ศ. 2444) กำหนดให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในหนังสือมีอำนาจที่จะพิมพ์ คัด แปล จำหน่าย หรือขายหนังสือที่ตนมีกรรมสิทธิ์นั้นได้แต่เพียงผู้เดียว ระยะเวลาของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายฉบับนี้คือ ตลอดอายุของผู้แต่งหนังสือและอีก 7 ปีหลังผู้แต่งถึงแก่ความตาย แต่ถ้ารวมเวลาได้กรรมสิทธิ์ทั้งหมดจนถึงภายหลังผู้แต่งถึงแก่ความตายแล้วไม่ถึง 42 ปี ก็ให้กรรมสิทธิ์มีอยู่ต่อไปจนครบ 42 ปี นับแต่วันเริ่มได้รับกรรมสิทธิ์ มีข้อสังเกตว่า ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่าลิขสิทธิ์ในกฎหมายฉบับนี้ แต่ใช้คำว่ากรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นลักษณะของสิทธิความเป็นเจ้าของต่างจากแนวความคิดเรื่องลิขสิทธิ์โดยทั่วไป ซึ่งไม่ใช่สิทธิความเป็นเจ้าของ แต่เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ และเน้นการคุ้มครองเฉพาะหนังสือเท่านั้น ไม่รวมถึงงานศิลปกรรมประเภทอื่นด้วย และต้องมีการจดทะเบียนเพื่อเป็นแบบพิธีในการได้รับความคุ้มครองด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของสหภาพเบอร์น ประเทศไทยจึงต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยร่วมลงนามไว้ โดยได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 ไว้ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ หลักการของพระราชบัญญัตินี้ได้เพิ่มประเภทสิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง ครอบคลุมไปถึงงานวรรณกรรม ศิลปกรรม ซึ่งหมายความรวมถึงการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลปะ โดยมีการบัญญัติคำว่า “ลิขสิทธิ์” ขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ยังคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ ยกเลิกแบบพิธีการได้รับความคุ้มครอง จากที่เคยมีการจดทะเบียน เป็นไม่มีการจดทะเบียนแต่อย่างใด และกำหนดโทษทางอาญาไว้ด้วย
ในปี พ.ศ. 2521 ได้มีการตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ขึ้น ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม โดยมีการขยายความคุ้มครองไปอีกหลายงาน คือ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ กำหนดความผิดและมีบทลงโทษให้สูงขึ้นจากเดิม และกำหนดอายุความคุ้มครองเป็นตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
ปี พ.ศ. 2537 ได้มีการตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 เนื่องจากสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ จึงมีการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานในด้าน วรรณกรรม ศิลปกรรม และงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น
เครดิต : thaieditorial.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น